วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ตำนานมวยไทย

ประวัติมวยไทย

มวยไทย

 
มวยไทย
มวยไทย คือศิลปะการต่อสู้จากประเทศไทย ที่ใช้หมัด ศอก แขนท่อนล่าง เท้า แข้ง เข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ และลำตัวในการต่อสู้ ศิลปะการต่อสู้ลักษณะนี้ สามารพบเห็นได้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างเช่นประเทศกัมพูชาเรียกว่า ประดั่ญเซเรีย (Pradal Serey) หรือขอมมวย ส่วนประเทศลาวเรียก มวยลายลาว (มวยเสือลากหาง)
ปัจจุบัน ทางสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มีแผนการณ์ที่จะผลักดันกีฬามวยไทยเข้าสู่กีฬาโอลิมปิกซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผลักดันอย่างจริงจัง
ความหมายของคำว่า"มวย"
  1. อาจมีที่มาจาก คำว่า รำหมัดรำมวย ซึ่งเป็นชื่อเรียก การฝึกสมาธิเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสุขภาพ ของ ชนเผ่าไท โดยมีลักษณะเด่นที่ การเคลื่อนไหวซึ่งมี การหมุนม้วนข้อมือและหมัด(พันหมัดพันมือ) และ การเคลื่อนที่ ที่มีจังหวะและการหมุนวนไปมา ซึ่งเป็นคำปรากฏ เรียกกันมาแต่โบราณ ตั้งแต่ก่อนตั้งอาณาจักรสุโขทัย และต่อมาในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา(ราวปี พ.ศ. 1900) ปรากฏคำว่า ปล้ำมวย (การประลอง หรือซ้อมมวยเพื่อทดสอบฝีมือ เช่นเดียวกับ การปล้ำไก่) ตีมวย (การแข่งขันชกมวยเพื่อการพนันเอาแพ้ชนะ เช่นเดียวกับ คำว่า ตีไก่) หรืออาจมาจากลักษณะการประกอบการม้วนเชือกหรือผ้า เพื่อใช้หุ้มฝ่ามือและท่อนแขน เพื่อใช้ป้องกันอันตรายขณะต่อสู้ หรืออาจเพิ่มอันตรายในการ ชก กระแทกฟาดโดยการผสม กับ กาวแป้ง และ ผงทราย คล้ายลักษณะของ มวยผม ของ ผู้หญิงที่นิยมไว้ผมยาว (เกล้ามวย) ได้แก่ หญิงไทย/ลาวโซ่ง/หญิงล้านนาในสมัยโบราณ หรือนักมวยจีน (มุ่นผม) ซึ่งนิยมถักเป็นเปีย แล้วม้วนพันรอบคอของตนซึ่งสามารถใช้ในการต่อสู้ในบางครั้ง
  2. หรือ มาจากคำภาษาบาลี ว่า "มัลละ" หมายถึง การปล้ำรัด มวยปล้ำของชาวอินเดีย
มีการต่อสู้ในลักษณะเดียวกับ มวย ของ ชาวไทย มุสลิมในท้องถิ่นทาง ภาคใต้ ตลอดจนแหลม มลายู เรียกว่า ซีละ หรือ ปัญจสีลัต มีผู้บัญญัติศัพท์ว่า "มวยไทยพาหุยุทธ์" โดยเปรียบว่า เป็นการต่อสู้แบบรวมเอา ศิลปะการต่อสู้ (Martial Art) ทุกแขนง โดยใช้อวัยวะทุกส่วนร่วมด้วยได้แก่ การใช้ ศีรษะ คาง เพื่อชน กระแทก โขก ยี ใช้ท่อนแขน ฝ่ามือ และกำปั้น จับ ล็อก บล็อก บัง เหวี่ยง ฟัด ฟาด ปิด ปัด ป้อง ฟาด ผลัก ยัน ดัน ทุบ ชก ไล่แขน ศอก เฉือน ถอง กระทุ้ง พุ่ง เสย งัด ทั้งทำลายจังหวะเมื่อเสียเปรียบและหาโอกาสเข้ากระทำเมื่อได้เปรียบ
ส่วนขา แข้ง เข่า ฝ่าเท้า ส้นเท้า ปลายเท้า ใช้ในการบัง ถีบ เตะ แตะ เกี่ยว ตวัด ฉัด ช้อน ปัด กวาด ฟาด กระแทก ทำให้บอบช้ำและเสียหลักและใช้ลำตัวในการการทุ่มทับจับหัก (มีคณะนักมวยในอดีตคือ ค่าย ส.ยกฟัด ที่นิยมใช้กันมาก) การประกอบรวมแม่แบบชุดต่อสู้รวมเรียกว่า แม่ไม้ และลูกไม้ ตามเชิงมวย หรือกลมวย

[แก้] ประวัติศาสตร์ของมวยไทย

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ในปัจจุบันมีการดัดแปลงมวยไทยมาใช้ในกองทัพโดยเรียกว่า "เลิศฤทธิ์" ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตีด้วย)
มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก ๆ เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา"

[แก้] การศึกษาศิลปะมวยไทย

มวยไทย
มีผู้กล่าวกันว่ามีตำนานเกี่ยวเนื่องกับพระนางจามเทวี ผู้สร้างเมืองลำพูน ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 1200 มีพระฤๅษีนาม สุกกะทันตะฤๅษี ซึ่งเป็นสหายธรรม กับ ท่านสุเทวะฤๅษี เป็นพระอาจารย์ผู้สั่งสอน ธรรมวิทยา แล ศิลปศาสตร์ทั้งปวงอันควรแก่การศึกษาสำหรับขุนท้าวเจ้าพระยาทั้งหลาย โดยตั้งเป็นสำนักเรียนขึ้นที่ เขาสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี(ลวะปุระ หรือ ละโว้ ) ในสรรพวิทยาทั้งหลายนั้น ประกอบด้วยวิชชาอันควรแก่ ชายชาตรี ที่เรียกว่า มัยศาสตร์ (มายาศาสตร์ หรือบ้างเรียกว่า วิชาชาตรี) อันได้แก่ วิชามวย วิชาดาบ วิชาธนู วิชาบังคับช้าง ม้า ซึ่งเป็นการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญในการต่อสู้ป้องกันตัวและศึกสงคราม ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน-ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัตริย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย) และจะมีการแข่งขันต่อสู้-ประลองกันในงานวัด และงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล-เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค
บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย ในสมัยอยุธยา ตอนปลายได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมีหน้าที่ในการให้การคุ้มครองกษัตริย์และราชวงศ์ ได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน) จึงมีครูมวยไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ารับราชการจำนวนมากและได้แสดงฝีมือในการต่อสู้ในราชสำนักและหน้าพระที่นั่งในงานเทศกาลต่างๆสืบต่อกันมาเป็นประจำ
กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยุคที่นับว่าเฟื่องฟูที่สุดคือ รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ศึกษาฝึกฝนการชกมวยไทยและโปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งโดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากภาคต่างๆ มาประลองแข่งขัน และพระราชทานแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ทั้งยังโปรดให้กรมศึกษาธิการ บรรจุการสอนมวยไทยเป็นวิชาบังคับ ในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำจนถึงสมัย รัชกาลที่ 6 ที่วังสวนกุหลาบ ทั้งการต่อสู้ประลองระหว่างนักมวย กับครูมวยชาวไทยด้วยกัน และการต่อสู้ระหว่างนักมวย กับครูมวยต่างชาติ ในการแข่งขันชกมวยในสมัยรัชกาลที่ 6 ระหว่างมวยเลี่ยะผะ (กังฟู) ชาวจีนโพ้นทะเล ชื่อนายจี่ฉ่าง กับ นายยัง หาญทะเล ศิษย์เอกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีท่าจรดมวยแบบมวยโคราช ซึ่งเน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้นการใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง และต่อมาได้เป็นแบบอย่างในการฝึกหัดมวยไทยในสถาบันพลศึกษาส่วนใหญ่ สมัย รัชกาลที่ 7 ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ด้วยหมัดเหวี่ยงควายถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งแรกคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน

[แก้] ครูมวยไทยที่มีชื่อเสียง

[แก้] ยุคอดีต


[แก้] ยุคปัจจุบัน


[แก้] นักมวยไทยมีชื่อเสียง

ดูบทความหลักที่ นักมวยไทย

[แก้] หลักการชกมวยไทย

การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญที่มีการเปรียบเทียบว่า "ประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์" อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล (วงนอก) และระยะประชิด (วงใน) และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้

[แก้] แม่ไม้มวยไทย

แม่ไม้มวยไทยมี 15 ท่า ดังนี้: สลับฟันปลา, ปักษาแหวกรัง, ชวาซัดหอก, อิเหนาแทงกฤช, ยกเขาพระสุเมรุ, ตาเถรค้ำฟัก, มอญยันหลัก, ปักลูกทอย, จระเข้ฟาดหาง, หักงวงไอยรา, นาคาบิดหาง, วิรุณหกกลับ, ดับชวาลา, ขุนยักษ์จับลิง และ หักคอเอราวัณ
แม่ไม้และลูกไม้มวยไทย ใช้สำหรับฝึกฝนการรุก การรับ ในการใช้จังหวะและอวัยวาวุธ ให้คล่องแคล่ว ทั้งวงนอก วงใน อันควรแก่การศึกษาเป็นแม่แบบ ที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ จระเข้ฟาดหาง (หมุนตัวแล้วฟาดตวัดด้วยวงเท้าหลัง), เถรกวาดลาน (เตะกวาดล่างวงนอกรวบสองเท้าให้เสียหลัก), หนุมาณถวายแหวน (ชกหมัดตรง/หมัดเสยหรือหมัดเหวี่ยงข้างพร้อมกันสองมือ), มอญยันหลัก (ถีบลำตัวให้เสียหลัก), หักงวงไอยรา (เหยียบคู่ต่อสู้เพื่อยกตัวเตะตวัดก้านคอ), บั่นเศียรทศกัณฑ์ (เตะก้านคอ), ปักลูกทอย (ปักศอกลงตรงหน้าขาคูต่อสู้), มณโฑนั่งแทน (กระโดดขึ้นปักศอกลงกลางกระหม่อม), หิรัญม้วนแผ่นดิน (ศอกกลับ), พระรามเดินดง (เตะแล้วต่อยตามข้างเดียวกัน), มอญแทงกริช (ถองด้วยศอกบริเวณซี่โครงอ่อน), ฤๅษีบดยา (กระโดดปักศอกกลางศีรษะ), พุ่งหอกโมกขศักดิ์ (ตั้งศอกเหนือศีรษะพุ่งเข้าบริเวณใบหน้า),ไกรสรข้ามห้วย (กระทืบโค้งยันข้อพับขาอ่อน),ทะแยค้ำเสา (กระทืบยันบริเวณข้อหัวเข่า) ฯลฯ

[แก้] ลูกไม้

มีทั้งลูกผสมและลูกแยก เพื่อใช้หลอกล่อและเผด็จศึก เช่น แตะตรงเตะ แตะถีบเตะ แตะตรงถีบเตะ, ลูกเตะสลับ เตะช้อน เตะตวัด เตะสูง เตะสวาบ เตะพับนอกพับใน เตะคา เตะเขี่ยล่าง, ลูกถีบหน้า ถีบหลัง ถีบจิก, ลูกศอกตี ตัด งัด พุ่ง กระทุ้ง กลับ, ลูกเข่าน้อย เข่าลา เข่าโค้ง เข่าตี เข่ากระทุ้ง เข่าลอย เข่าแหลม เข่าคา, ลูกหมัดหน้า หมัดหลัง หมัดลัก หมัดอ้อม หมัดเกี่ยว หมัดสอย หมัดเสย หมัดซ้ำ หมัดหนึ่งสอง หมัดชุดสามเหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีการใช้ส่วนที่ไม่เป็นอาวุธในกาป้องกัน-สร้างจังหวะในการตอบโต้ เช่น การใช้ฝ่ามือในการบัง ปิด ปัด ดึง ดัน ผลัก โหน ค้ำ ขวาง กด ใช้เท้าในการเต้น กระโดด ใช้หัวไหล่หรือลำตัวในการหลอกล่อ ฯลฯ

[แก้] องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของนักมวยไทย


  • ขนาดและความสมส่วนของร่างกาย
  • ความเข้มแข็งของร่างกายและจิตใจ
  • จิตวิญญาณของนักสู้
  • สมาธิ ปฏิภาณ ไหวพริบ
  • ความมีอารมณ์รื่นเริงเบิกบาน อ่อนน้อมและมีไมตรีจิต
  • ความศรัทธาเชื่อมั่นกตัญญูต่อครูบาอาจารย์
  • ความไม่ประมาทและการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสม
  • ความมีน้ำใจนักกีฬา ขยันหมั่นเพียร อดทน อดกลั้น
  • การเห็นคุณค่าในความงามของศิลปะการป้องกันตัวแบบมวยไทย

[แก้] การฝึกฝนวิชามวยไทย

  1. การสมัครตัวเป็นศิษย์ต่อสำนักเรียน/ครูมวยที่ศรัทธาเชื่อถือ
  2. การเตรียมร่างกายในด้าน ความอดทน แข็งแรง คล่องแคล่ว ว่องไว อ่อนตัว แข็งแกร่งทนทานต่อความเจ็บปวด
  3. การฝึกประสาทตา หู สัมผัส
  4. การฝึกใช้อวัยวะส่วนต่างๆตามลูกไม้ แม่ไม้เพื่อให้เกิดพิษสงที่ดีที่สุด
  5. การฝึกกับอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเพิ่มสมรรถภาพโดยรวมและโดยเฉพาะส่วน
  6. การฝึกกับคู่ซ้อม/ครู
  7. การฝึกแบบจำลองสถานการณ์จากน้อยไปหามาก
  8. การฝึกประสบการณ์ตรงโดยมีผู้แนะนำแก้ไข/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์
  9. การฝึกด้านจิตใจสำหรับนักต่อสู้ชั้นสูง
  10. การจัดโภชนาการ การบริหารความเครียด การสร้างความผ่อนคลายและการบำบัดรักษาด้วยตนเอง/ผู้เชี่ยวชาญ

[แก้] กติกา

ปัจจุบัน "กีฬามวยไทยอาชีพบนเวทีมวยมาตรฐาน" และ "กีฬามวยไทยสมัครเล่น" เป็นการต่อสู้ที่มีกฏกติกาชัดเจน มีนายสนามผู้ขออนุญาตจัด มีผู้จัดชก (Promoter) มีกรรมการให้คะแนนและกรรมการตัดสินชี้ขาด (Judge/Julies/Referee) กรรมการตัดสินจะต้องมีอย่างน้อย สาม คน มีกรรมการตัดสินชี้ขาดบนเวทีและกรรมการให้คะแนน การให้คะแนนนิยมให้เป็นยก ยกละ 10 คะแนน (ดูจากการใช้ศิลปะการป้องกัน การต่อสู้ ความบอบช้ำที่ได้รับ อันตรายจากบาดแผล การได้เปรียบเสียเปรียบ การคาดการณ์ผลสุดท้ายของการต่อสู้ การตัดคะแนนจากการเอารัดเอาเปรียบคู่ชกในขณะที่ไม่เหมาะสม, การถูกทำให้เสียหลักหรือล้ม, การถูกนับ ฯลฯ) ซึ่งพิจารณาโดยใช้หลักวิชาและประสบการณ์ของกรรมการที่ผ่านการตรวจสอบรับรองความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ การชกจัดเป็นยกมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาที (เดิมกำหนด 4 ถึง 6 ยก) มุ่งผลเพียงแค่ แพ้ ชนะ และการแสดงออกของศิลปะการต่อสู้ชั้นสูง ผู้ชกต้องแต่งกายตามกำหนด และมีการสวมมงคลคาดผ้าประเจียด และก่อนชกต้องมีการไหว้ครู

[แก้] อุปกรณ์สำหรับนักมวยไทยที่สำคัญ

  1. เครื่องแต่งกาย ได้แก่ กางเกงขาสั้น กระจับ ผ้าพันมือ นวม แบ็ค แองเกิล มงคล ผ้าประเจียด เสื้อคลุม ฟันยาง
  2. อุปกรณ์ฝึกซ้อม ได้แก่ กระสอบทราย กระสอบนวม กระสอบยางรถยนต์ ล่อเป้าหมัด ล่อเป้าเตะ-เข่า พันชิ่งบอล ดัมแบล บาเบล กระบองสั้น พลองยาว เก้าอี้ซิทอัฟ เหล็กกำ เชือกกระโดด เชือกมะนิลา กระจกเงา ยางล้อรถยนต์ฝึกการทรงตัว หลักหัวเสา ราวไม้ รั้วต่ำ บาร์เดี่ยว บาร์คู่ เวทีฝึกซ้อม เสื่อ ไม้นวด เตาถ่านและลูกประคบฯลฯ
  3. อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ วาสลิน กระป๋องฉีดน้ำ (ป็อกเกิล) ผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนู รองเท้าวิ่ง ถังน้ำ กระติกน้ำแข็ง เก้าอี้ เครื่องยาสำคัญ อาทิ น้ำมันมวย ยาหม่อง ยาดำ ยาขม ขมิ้นชัน ไพล บอระเพ็ดหมากพลู ปูนแดง สารส้ม ฯลฯ
มวยไทยมิใช่จะมีเฉพาะความเข้มแข็งของนักสู้แต่มันมากด้วยจิตวิญญานของผู้กตัญญู ผู้อ่อนโยน ผู้เป็นมิตร ผู้อดทน ผู้ให้อภัย และผู้ร่าเริงเบิกบาน บทหนึ่งของมวยไทยอาจดูกระด้าง อาจดูน่าเกรงขามแต่นั่นเพื่อตอบโต้แก่ผู้รุกราน บทหนึ่งของมวยไทยอาจดูอ่อนด้อยน่าย่ำยีแต่นั่นเป็นกลลวงสำหรับผู้ที่เย่อหยิ่งจองหองเท่านั้น และทั้งหมดนั้นผู้ที่เป็นมวยซึ่งได้ผ่านสังเวียนการต่อสู้ทั้งที่มีเกียรติและไร้เกียรติมาอย่างโชกโชนย่อมเข้าใจดีว่ามวยไทยที่เขาได้ใช้มันออกไปเพื่อแสดงอะไร
ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย มีพัฒนาการควบคู่มากับวิถีชีวิตของคนไทย จึงมีลักษณะผสมผสานด้านการต่อสู้เพื่อใช้ป้องกันตัวและต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าอื่น แล้วยังรวมเอาการแสดงศิลปะลีลาของการใช้อวัยวาวุธอันมีความหลากหลายพิสดารน่าดูไว้ด้วยตามลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชอบการแสดงออก ความสนุกสนานร่าเริงและเป็นมิตร ตลอดถึงความเป็นคนอ่อนน้อม กตัญญูรู้คุณคน ซึ่งถือเป็นหลักการของศิลปะการต่อสู้เฉพาะ ชนชาวไทย ที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากชาติใดๆ ผู้ที่เรียนรู้ ฝึกฝนจนเข้าถึงและเข้าใจจึงจะสามารถคงเอกลักษณ์นี้ไว้ได้

[แก้] จิตวิญญานมวยไทย Spirits of Muaythai

1. มีความสง่างาม Smart 2. มีความเบิกบานและเป็นมิตร Smiling 3. มีความแข็งแกร่ง Strength 4. มีความเรียบง่าย Simply

[แก้] สิ่งที่น่าสนใจ

[แก้] สีของคู่ต่อสู้

[แก้] การถ่ายทอดสดการแข่งขันทางโทรทัศน์

การถ่ายทอดสดการแข่งขันที่จัดประจำสัปดาห์ ส่วนมากจะออกอากาศในวันเสาร์ หรือ วันอาทิตย์ ยกตัวอย่างประเทศที่มีการถ่ายทอดประจำทางโทรทัศน์ดังนี้